คำสอน "หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต" จงระลึกในบาปกรรม ใช้สติในการดำรงชีวิตอยู่เสมอ
เรียบเรียงโดย : เว็บข่าวสารThaiFS
-
22 มกราคม 2563
1,532
หลวงปู่มั่นหรือพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เป็นพระป่าที่ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิป จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น)
ทั้งนี้จึงได้มีการรวบรวมคำสอนของ หลวงปู่มั่น ให้เป็นข้อคิดและธรรมทาน
- เราทั้งหลาย ต่างเกิดมาด้วยวาสนา มีบุญพอเป็นมนุษย์ได้ อย่างเต็มภูมิ ดังที่ทราบอยู่แก่ใจ อย่าลืมตัวลืมวาสนา โดยลืมสร้างคุณงามความดีเสริมต่อ ภพชาติของเรา ที่เคยเป็นมนุษย์ จะเปลี่ยนแปลง และกลับกลายหายไป เป็นชาติที่ต่ำทราม ท่านจึงสอน ไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน เมื่อเห็นเขาตกทุกข์ หรือกำลังจน จนน่าทุเรศ เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้น หรือยิ่งกว่านั้นก็ได้ เมื่อถึงวาระเข้าจริง ๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้ เงินก็ช่วยพวกท่านไม่ได้ เพราะกรรมดี กรรมชั่ว เรามีทางสร้างได้ เช่นเดียวกับผู้อื่น จงหมั่นทำความดีเอาไว้ให้เป็นกิจนิสัย
- เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มี ก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษา ก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ ก็เจริญให้พอเสียจะได้ไม่เสียที ที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาด้วยความไม่ประมาท นั้นละจึงจะสม กับที่ได้เกิดมาเป็นคน
- ผู้มีปัญญาไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ผู้มีปัญญาได้เห็นในธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ควรรีบทำเสีย ผู้มีปัญญาซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน
- จะเอาอะไรมาเพิ่มอีก ก็ถ้าหากตายไปในวันนี้วันพรุ่งนี้ สิ่งต่างๆที่เคยมีและผ่านเข้ามา ตะเกียดตะกายดิ้นรนไขว่คว้า ทุกอย่างก็จะเป็นเพียงแค่ สิ่งที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา แม้เงินที่เค้าใส่ให้ในปากยามเราตายก็เอาไปไม่ได้ เอาไปได้แค่บุญกับกรรมที่ทำมาเท่านั้น
- ไม่ควร "ยกโทษ ผู้อื่น" หรือ "เพ่งโทษผู้อื่น" ถึงแม้นผู้นั้น จะไม่ดีก็ตามที เพราะการเพ่งโทษผู้อื่น จะนำความวิบัติสู่ตนโดยไม่รู้ตัว ความเผลอสติ มักพาให้ผู้คนนั้น "ยกโทษผู้อื่น และ พยายามยกคุณตนเอง" แทนที่จะ "ยกคุณผู้อื่น ยกโทษตนพิจารณา"
- วิธีการภาวนา คือ วิธีสังเกตตัวเอง สังเกตจิตที่มีนิสัยหลุกหลิก วอกแวก ไม่อยู่เป็นปกติสุข ด้วยการมีสติตามระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีธรรมบทใดบทหนึ่ง เป็นคำบริกรรม เพื่อเป็นยารักษาจิตให้ทรงตัวอยู่ได้ด้วยความสงบสุขในขณะการภาวนา ท่านจึงสอนไม่ให้ดูถูกเหยียดหยามกัน เมื่อเห็นเขาตกทุกข์ หรือกำลังจน จนน่าทุเรศ เราอาจมีเวลาเป็นเช่นนั้น หรือ ยิ่งกว่านั้นก็ได้ เมื่อถึงวาระเข้าจริง ๆ ไม่มีใครมีอำนาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะกรรมดี กรรมชั่ว เรามีทางสร้างได้เช่นเดียวกับผู้อื่น ผู้สงสัยกรรม หรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล คือ ลืมตน จะกลายเป็น ผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้
- เราต้องการของดี คนดีจำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกตน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน
- คนมีทานย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผย และเด่นในปวงชน เป็นที่เคารพรักในหมู่ชน จะตกอยู่ทิศใดย่อมไม่อดอยาก ขาดแคลน จะมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ ผู้มีทานประดับตน ย่อมไม่เป็นคนล้าสมัย บุคคลทุกชั้นไม่รังเกียจ
- บุคคลใดปฏิบัติแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีน้อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เห็นซึ่งอะไรๆ ในเบื้องต้น ท่ามกลาง หรือที่สุดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งจะเข้าถึงความเป็นของไม่ควรถือเอา
- อย่าลดละท้อถอยความเพียร ธรรมเป็นสมบัติกลางและเป็นสมบัติของทุกคนที่ใคร่ต่อธรรม พระพุทธเจ้ามิได้ผูกขาดไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต่างมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วยการปฏิบัติดีของตนด้วยกัน